องค์ประกอบหลักการแสดง
องค์ประกอบหลักของการแสดง
- การรำ โนราแต่ละตัวต้องรำอวดความชำนาญและความสามารถเฉพาะตน โดยการรำผสมท่าต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องกลมกลืน แต่ละท่ามีความถูกต้องตามแบบฉบับ มีความคล่องแคล่วชำนาญที่จะเปลี่ยนลีลาให้เข้ากับจังหวะดนตรี และต้องรำให้สวยงามอ่อนช้อยหรือกระฉับกระเฉงเหมาะแก่กรณี บางคนอาจอวดความสามารถในเชิงรำเฉพาะด้าน เช่น การเล่นแขน การทำให้ตัวอ่อน การรำท่าพลิกแพลง เป็นต้น
- การร้อง โนราแต่ละตัวจะต้องอวดลีลาการร้องขับบทกลอนในลักษณะต่างๆ เช่น เสียงไพเราะดังชัดเจน จังหวะการร้องขับถูกต้องเร้าใจ มีปฏิภาณในการคิดกลอนรวดเร็ว ได้เนื้อหาดี สัมผัสดี มีความสามารถในการร้องโต้ตอบ แก้คำอย่างฉับพลันและคมคาย เป็นต้น
- การทำบท เป็นการอวดความสามารถในการตีความหมายของบทร้องเป็นท่ารำ ให้คำร้องและท่ารำสัมพันธ์กันต้องตีท่าให้พิสดารหลากหลายและครบถ้วน ตามคำร้องทุกถ้อยคำต้องขับบทร้องและตีท่ารำให้ประสมกลมกลืนกับจังหวะและลีลาของดนตรีอย่างเหมาะเหม็ง การทำบทจึงเป็นศิลปะสุดยอดของโนรา
- การรำเฉพาะอย่าง นอกจากโนราแต่ละคนจะต้องมีความสามารถในการรำ การร้อง และการทำบทดังกล่าวแล้วยังต้องฝึกการำเฉพาะอย่างให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษด้วยซึ่งการรำเฉพาะอย่างนี้ อาจใช้แสดงเฉพาะโอกาส เช่น รำในพิธีไหว้ครู หรือพิธีแต่งพอกผู้กผ้าใหญ่ บางอย่างใช้รำเฉพาะเมื่อมีการประชันโรง บางอย่างใช้ในโอกาสรำลงครูหรือโรงครู หรือรำแก้บน เป็นต้น การรำเฉพาะอย่าง มีดังนี้
- รำบทครูสอน
- รำบทปฐม
- รำเพลงทับเพลงโทน
- รำเพลงปี่
- รำเพลงโค
- รำขอเทริด
- รำเฆี่ยนพรายและเหยียบลูกนาว (เหยียบมะนาว)
- รำแทงเข้
- รำคล้องหงส์
- รำบทสิบสองหรือรำสิบสองบท
- การเล่นเป็นเรื่อง โดยปกติโนราไม่เน้นการเล่นเป็นเรื่อง แต่ถ้ามีเวลาแสดงมากพอหลังจากการอวดการรำการร้องและการทำลทแล้ว อาจแถมการเล่นเป็นเรื่องให้ดู เพื่อความสนุกสนาน โดยเลือกเรื่องที่รู้ดีกันแล้วบางตอนมาแสดงเลือกเอาแต่ตอนที่ต้องใช้ตัวแสดงน้อย ๆ (2-3 คน) ไม่เน้นที่การแต่งตัวตามเรื่อง มักแต่งตามที่แต่งรำอยู่แล้ว แล้วสมมติเอาว่าใครเป็นใคร แต่จะเน้นการตลกและการขับบทกลอนแบบโนราให้ได้เนื้อหาตามท้องเรื่อง
[แก้]โนราลงแข่ง (ประชันโรง)
การแข่งมโนรา หรือ มโนราประชันโรง เพื่อจะพิสูจน์ว่าใครเล่นหรือรำดีกว่า มีศิลปในการรำเป็นอย่างไรการว่ามุตโต (กลอนสด) ดีกว่ากัน ถ้าโรงไหนดีกว่าโรงนั้นก็จะมีคนดูมาก และเป็นผู้ชนะ การแข่งมโนรานี้มีพิธีที่คณะมโนราต้องทำมาก กลางคืนก่อนแข่งมีการไหว้ครูเชิญครู แล้วเอาเทริดผูกไว้ที่เพดานโรง เอาหมาก 3 คำ และจุดเทียนตามเอาไว้ จากนั้นหมอก็ทำพิธีปิดตู (ประตู) กันตู (ประตู) โดยชักสายสิญจน์กันไว้ หมอและคณะจะไม่นอนกันทั้งคืน หมอทำพิธีประพรมน้ำมนต์ไปเรื่อย (หมอประจำโรงต้องจ้างเป็นพิเศษไปกับคณะ สมัยก่อนเมื่อมีการแข่งครั้งหนึ่งหมอจะได้รับค่าจ้าง 1 เหรียญ หรือ 50 เบี้ย)
การเอาเทริดผูกไว้ที่เพดานเพื่อที่จะเสี่ยงทายเอาเคล็ด คือ ให้หันเทริดเวียน 3 ที แล้วคอยดูว่าเมื่อหยุดเทริดจะหันหน้าไปทางไหน ถ้าเทรอดหันหน้าไปทางคู่แข่งมีหมายความว่ารุ่งเช้าจะแข่งชนะ ถ้าเทริดหันไปทางอื่นหมายความว่าแพ้ เมื่อถึงเวลาแข่งก็มีการรำอย่างธรรมดา คือ ออกนางรำทุกๆคน ประมาณ 4-5 คน แล้วก็ถึงตัวมโนราใหญ่ (นายโรง) นายโรงจะออกมารำ แต่ยังไม่สวมเทริดแล้วหมอก็จะนำหน้าลงมาจากโรงเพื่อทำพิธีเวียนโรงเป็นทักษิณาวัด 3 รอบ (ขณะเวียนโรงดนตรีเชิด) หมอถือน้ำมนต์นำหน้า มโนราใหญ่เดินตามหลัง การเวียนโรงทำเพื่อโปรดสัตว์ แผ่เมตตา มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สพเพ สตตา กรุณา อุเบกขา มุทิตา สพเพ สตตา สุขี โหนตุ แผ่เมตตาแก่ผู้ดูและสรรพสัตว์ทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข แล้วก็กลับขึ้นโรงตามเดิม